งานศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
ตามมติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 ณ จังหวัดเชียงใหม่รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (การรถไฟแห่งประเทศไทย) รับไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งรัดแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ และทางสายใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการลงทุนของภาครัฐ และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 มีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการไปพิจารณาดำเนินการ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เร่งดำเนินการเรื่องการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณฯ เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ (Feasibility) และเพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (Detailed Design) เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor Upper) จากแม่สอด-นครพนมมีโครงข่ายที่สมบูรณ์
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณลงทุนประจำปี 2563 เพื่อดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (Detailed Design)
Click ที่ภาพ เพื่อดู"แนวเส้นทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ที่ปรับปรุงโดยนำข้อมูลจากการสำรวจและกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมา นำมาปรกอบการพิจารณา"
วัตถุประสงค์
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความประสงค์จะว่าจ้างเพื่อดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256.40 กิโลเมตร ตามผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor Upper) จากแม่สอด - นครพนม มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันรวมทั้งให้เกิดความต่อเนื่อง และความสมบูรณ์ชัดเจนต่อผลการศึกษาที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ดังนี้
1. การวางแนวเส้นทาง กำหนดแนวเขตทาง การวางรูปแบบโครงสร้างในช่วงที่เป็นจุดตัดกับโครงการอื่น และเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบ เพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอดที่ได้จัดทำไว้แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
2. ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการฯ
3. สำรวจออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง
4. ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ
ขอบเขตงานของงาน
ส่วนที่ 1 ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม
ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเงินของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ที่ได้จัดทำแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
ส่วนที่ 2 การสำรวจออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคา
การจัดทำแบบรายละเอียด ประมาณราคาค่าก่อสร้าง และเอกสารประกวดราคา โครงการก่อสร้างทางรถไฟสาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ รวมทั้งการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบ และโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปใช้ในการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง
ส่วนที่ 3 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ดำเนินการสำรวจ ศึกษา และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีล่าสุด และปรับปรุงแก้ไข และจัดทำรายงานฯ ตามรูปแบบและรายการที่เปลี่ยนแปลง และตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561